วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

การกำเนิดโลก

การกำเนิดโลก

ภาพ : การกำเนิดโลก


สมมติฐานกำเนิดโลกมีอยู่มากมาย แต่สามารถจัดได้เป็น 2 กลุ่มคือ

1. สมมติฐานเนบูลาร์ (Nebular Hypothesis)
          เชื่อว่าหลายพันล้านปีที่ผ่านมาได้มีกลุ่มก๊าซ และสสารจำนวนมาก หมุนรอบดวงอาทิตย์ ที่เกิดขึ้นใหม่ ต่อมาในราว 4,600 ล้านปี กลุ่มก๊าซ และสสารดังกล่าวได้รวมตัวกันเกิดเป็นโลก และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ที่เป้นบริวารของดวงอาทิตย์ โดยเริ่มจากกลุ่มก๊าซ และสสารได้รวมตัวกันมีขนาดเล็กลง และร้อนยิ่งขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นดวงไฟ ต่อมาเย็นตัวลงเกิดการแข็งตัว ในส่วนที่เป็นเปลือกโลกหุ้มส่วนที่เป็นของเหลวไว้ภายใน และมีกลุ่มก๊าซและสสารที่มีความหนาแน่นต่ำ เกิดเป็น บรรยากาศห่อหุ้มอยู่รอบโลกขึ้นก่อน ภายหลังได้เกิดกระบวนการภูเขาไฟ ขึ้นอย่างมากมาย หลังจากนั้นเมื่อโลก เย็นตัวลงมากเข้า ส่วนที่เป็นก๊าซและน้ำจะรวมตัวกันเป็นเมฆ และกลั่นเป็นฝนตกลงมา ก่อให้เกิดเป็นทะเลและมหาสมุทร พร้อมกับเกิดกระบวนการต่างๆ เช่น การเกิดภูเขาไฟ การเกิดแผ่นดินไหว การเกิดเทือกเขา การผุพังอยู่กับที่ การกร่อน เป็นต้น รวมถึงการเกิดและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต


  2. สมมติฐานพลาเนตติซิมัล (Planetesimal ; Hypothesis)
       ได้อธิบายว่าโลกและดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ เคยเป็นหนึ่งของดวงอาทิตย์มาก่อน ภายหลังได้หลุดออกมา เป็นดาวเคราะห์ต่าง ๆ โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์เนื่องจาก แรงดึงดูดของดาวดวงหนึ่งที่โคจรผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์นั้น


กำเนิดสุริยะจักรวาล
              ตามแนวทางการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ ปรากฎว่าราว 5 พันล้านปีล่วงมาแล้ว ภายในอวกาศมีกลุ่มก๊าซ และยังมีหมอกเพลิงอยู่ทั่วไป อาศัยแรงแห่งความโน้มถ่วงและความกดดัน สืบเนื่องมาจากกลุ่มก๊าซภายนอกกลุ่มอื่นๆ ผลักดันให้กลุ่มก๊าซและหมอกเพลิงเหล่านั้นรวมตัวกันเข้า และค่อยๆหมุนรอบตัวเองด้วยอัตราความเร็วเพิ่มขึ้นทุกที เมื่อกลุ่มของก๊าซและหมอกเพลิงรวมตัวกันหนาแน่นมากขึ้น มีอัตราเร็วของการหมุนมากขึ้น อุณหภูมิก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นด้วย จนในที่สุดก็เป็นดาวฤกษ์ที่มีระดับความร้อนสูงและมีแสงสว่างสดใส บางกลุ่มอาจจับกลุ่มกันมากกว่าสองขึ้นไป แต่บางกลุ่มก็อยู่โดดเดี่ยว เช่นดวงอาทิตย์ของเราเป็นต้น
สุริยะจักรวาลของเราเป็นจักรวาลที่ใหญ่โตมากจักรวาลหนึ่ง มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง และมีดาวบริวารอีก 9 ดวงโคจรอยู่รอบๆ ดาวบริวารเหล่านี้แยกตัวออกมาจาก
ดวงอาทิตย์ในขณะที่ยังเป็นกลุ่มก๊าซอยู่ และหมุนรอบดวงอาทิตย์ในทางโคจรที่จำกัด นานเข้าก็จับกลุ่มเย็นตัวลงก่อน และกลายเป็นดาวเคราะห์ ที่ไม่มีแสงในตัวเอง และยังมีดาวดวงเล็กๆ เป็นบริวารของดาวเคราะห์ดวงใหญ่อีก เรียกว่าดวงจันทร์ และก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกันที่จับกลุ่มแล้วโคจรไปในรูปแบบของดาวหาง


การเกิดแผ่นดินและทวีป
            เมื่อแรกแตกตัวออกมาจากดวงอาทิตย์นั้น ลูกโลกก็มีลักษณะเป็นดังกลุ่มหมอกเพลิง เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ และก็เคลื่อนที่ไปตามวงโคจรของมันรอบดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าจึงเย็นตัวเร็วกว่าดวงอาทิตย์ และในขณะที่เกิดการเย็นตัวนี้เอง สารที่เป็นส่วนประกอบพวกใดที่มีความหนาแน่นมากกว่า ก็จมลงไปอยู่ในใจกลางลูกกลมๆที่จะกลายเป็นโลก ส่วนที่เบากว่าก็เป็นองค์ประกอบอยู่ภายนอก และจากภายในก็มีไอน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งขึ้นมาพร้อมกับก๊าซอย่างอื่น ทำให้เกิดบรรยากาศห่อหุ้มโลก
นานแสนนานต่อมา ผิวโลกเย็นตัวลงอย่างช้าๆ และอาจกินเวลานานนับล้านๆปีที่ความร้อนภายใน ค่อยแผ่กระจายขึ้นไปภายนอก วัตถุที่หลอมละลายอยู่ข้างในก็พวยพุ่งออกมาภายนอก ในขณะที่มันเย็นตัวลงไปอีก แต่เพราะมีน้ำหนักมากก็เลื่อนตกกลับลงไปในส่วนลึกของมันอีก และส่วนภายในนั้นร้อนแรงและยังคงคุโชนอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
ดังนั้นภายในโลกจึงอาจจะเป็นแร่ธาตุที่หลอมเหลวและร้อนระอุอยู่ และมีขนาดมหึมา เส้นผ่าศูนย์กลางเฉพาะส่วนที่หลอมเหลวยาวถึง 4500 ไมล์ และมีอุณหภูมิที่ราวๆ 5000 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเป็นความร้อนที่เกือบเท่าๆ กับความร้อนของผิวดวงอาทิตย์ ธาตุที่หลอมเหลวนี้จัดเป็นผิวโลกชั้นในที่เรียกว่า เสื้อคลุมชั้นใน อาจหนาถึง 1800 ไมล์ ประกอบด้วยหิน ธาตุเหล็ก และโลหะอย่างอื่นๆปนอยู่อีกมาก
รอบๆ เสื้อคลุมชั้นในนี้ กลายเป็นชั้นบางๆของผิวโลก ถ้าเปรียบโลกทั้งใบเป็นดังผลแอปเปิล ผิวชั้นนี้ก็ไม่หนาไปกว่าผิวแอปเปิลเลย ชั้นล่างของชั้นหินนี้เป็นหินที่เราพบในลักษณะของลาวา ซึ่งภูเขาไฟพ่นออกประมาณว่าเปลือกนี้หนาถึง 20 ไมล์ ชั้นล่างสุดของผิวนี้เป็นท้องมหาสมุทรและทะเล ส่วนที่สูงขึ้นมาก็เป็นพื้นผิวของทวีปซึ่งกลายเป็นภูเขา แผ่นดิน และเนื้อเปลือกโลกชั้นนอกสุด อันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
เริ่มแรกที่ทวีปเกิดขึ้นใหม่ๆนั้น มีลักษณะน่ากลัวมาก เพราะขณะนั้นผิวโลก และภายในยังคงร้อนระอุอยู่ จึงมีเปลวไฟ กลุ่มก๊าซที่ร้อนจัด และหมอกควันระเบิดพวยพุ่งขึ้นมาเป็นแห่งๆ บางทีก็มีลาวาที่ประกอบด้วยหินละลายเหลวไหลขึ้นมาเป็นทะเลเพลิง ซึ่งในทะเลเพลิงของลาวานี้ก็มีหินแกรนิตมหึมาผุดลอยขึ้นมาด้วย เมื่อเย็นลงก็มีหินละลายส่วนอื่นๆจะเกาะเพิ่มเติมให้หนาออกไปเรื่อยๆ และในบางส่วนผิวนอกเย็นตัวเกาะเป็นของแข็ง แต่บางส่วนภายในที่ยังเดือดอยู่ก็ผลักดันให้ปูดนูนขึ้นภายนอก
ไม่มีใครทราบแน่นอนว่าส่วนของทวีปในโลกนี้ เกิดขึ้นในบริเวณไหนก่อน อาจเกิดขึ้นมาพร้อมๆกัน ในหลายๆแห่ง แล้วค่อยๆแปรสภาพไปทีละขั้นตอน ตามอำนาจของการเปลี่ยนแปลงของโลก จนมีสภาพกลายเป็นทวีปต่างๆ และทุกวันนี้ผิวโลกส่วนที่เป็นทวีปนี้ ก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ช้าลงเท่านั้น


การเกิดน้ำ
            เมื่อผิวโลกร้อนอยู่นั้น ถูกห่อหุ้มด้วยกลุ่มเมฆหมอกของก๊าซต่างๆ ซึ่งอาจจะกินเวลานานนับล้านปีที่เมฆหมอกเหล่านี้ปกคุมโลกอยู่ ต่อมาเมฆหมอกและก๊าซก็ค่อยๆเย็นตัวลงตามลำดับ การรวมตัวของก๊าซบางอย่างที่พอเหมาะกับสัดส่วน ทำให้เกิดละอองไอน้ำลอยขึ้นไปในอากาศ เมื่อเย็นลงก็จับตัวกันเป็นหยดน้ำและตกลงมาเป็นฝน เมื่อฝนตกลงมากระทบผิวโลกที่ยังร้อนอยู่ก็กลายเป็นไอน้ำ ลอยขึ้นไปรวมตัวกันเป็นเมฆดำและเป็นฝนตกลงมาอีก เมื่อผิวโลกเย็นตัวลง ฝนที่ตกลงมาก็ตกค้างเหลืออยู่บนผิวโลกบ้าง ระเหย
กลับขึ้นไปอีกบ้าง ครั้นฝนตกลงมาเรื่อยๆ นับเป็นเวลาล้านๆปี อำนาจของน้ำฝนที่ตกลงมาในที่สูงของแผ่นดิน ซึ่งต่อมาเราเรียกว่าภูเขานั้นก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำเบื้องล่าง และขังอยู่ตามแอ่งของผิงโลกคล้ายกับสระน้ำมหึมา เมื่อฝนค่อยๆเบาบางลงเมฆหมอกก็เริ่มจางลง น้ำฝนที่ตกลงมาสะสมมากขึ้นก็ทำให้เกิดเป็นมหาสมุทร
เวลาได้ผ่านไปอีกหลายล้านปีกว่าผิวโลก มหาสมุทร และทะเลต่างๆ จะปรากฏออกมาอย่างที่ได้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ นับแต่ยุคฝนตกใหญ่ และมีน้ำท่วมผิวโลก ทำให้ผิวโลกมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอีกเรื่อยมา ทำให้บางส่วนที่เคยเป็นพื้นดินยุบตัวลึกลงเป็นทะเลหรือมหาสมุทรไป และส่วนที่เคยจมน้ำอยู่บางส่วนถูกกดดันให้ปูดนูนสูงขึ้นมาพ้นน้ำบ้าง ริมแผ่นดินที่จรดขอบน้ำอันเป็นฝั่งทะเลหรือฝั่งมหาสมุทร ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ทำให้มีลักษณะเว้าแหว่งดังเช่นที่เห็นอยู่ทุกวันนี้


ที่มา : www.dmr.go.th

2 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาดี ถ้ามีภาพประกอบจะเข้าใจมากขึ้นค่ะ

    ตอบลบ
  2. เนื้อหาเยอะเกินไป ควรแทรกรูปปภาพเข้ามาอีก

    ตอบลบ